ดร.สาธิต ปรัชญาอริยะกุล เลขาธิการและผู้อำนวยการสมาคมป้องกันการทารุณสัตว์แห่งประเทศไทย ได้แสดงความคิดเห็นส่วนตัวเกี่ยวกับการค้าสัตว์ป่าที่ผิดกฎหมายว่า ก็เป็นที่ทราบกันดีประเทศไทย มักจะถูกกล่าวหาว่ามีการค้าสัตว์ป่าที่ผิดกฎหมาย รวมถึงการใช้สัตว์ป่าอย่างไม่เหมาะสม ด้วยเหตุนี้ประเทศไทยถูกมองจากต่างชาติว่าเป็นแหล่งค้าสัตว์ป่ามาหลายสิบปี หน่วยงานภาครัฐและหน่วยงานที่เกี่ยวข้องก็พยายามแก้ไขปัญหาอย่างจริงจัง นอกจากนี้การค้าสัตว์ป่าถือว่า เป็นการทารุณกรรมสัตว์โดยไม่มีเหตุอันควร เช่น การล่า การฆ่า การค้า การครอบครองดูแล โดยเฉพาะสภาพแวดล้อมในตลาดสัตว์ป่าที่มีการกักขังสัตว์ในพื้นที่ที่ไม่เหมาะสม ซึ่งถ้าประเทศไทยไม่ได้ดำเนินการในการหามาตรการป้องกันแล้ว ก็อาจจะส่งผลกระทบต่อภาพลักษณ์อันดี รวมทั้งทำให้เกิดทัศนคติเชิงลบในการตัดสินใจของนักท่องเที่ยวต่างชาติในการเดินทางมาเที่ยวในประเทศไทย
นอกจากนี้ อีกหนึ่งผลกระทบจากปัญหาการค้าสัตว์ป่าที่สำคัญคือการสูญเสียความหลากหลายทางชีวภาพและระบบนิเวศวิทยาของไทยที่มีเอกลักษณ์ในทางที่ไม่อาจกลับคืนมาได้ โดยเฉพาะเมื่อคำนึงถึงความนิยมเพิ่มขึ้นของการเลี้ยงสัตว์ป่าในไทย ทั้งนี้ผู้เชี่ยวชาญประเมินว่า การใช้ประโยชน์จากสัตว์ป่าในทางที่ผิด จะเป็นสาเหตุที่สำคัญอันดับที่สองในการทำลายระบบนิเวศวิทยาของโลก สำหรับประเทศไทยมีข้อบังคับในการแก้ไขปัญหาเหล่านี้มากมายและมีกรอบทางกฎหมายในเรื่องปกป้องสภาพแวดล้อมทางธรรมชาติในรูปแบบของพระราชบัญญัติสงวนและคุ้มครองสัตว์ป่า พ.ศ. 2562 และมีสนธิสัญญาหว่างประเทศ CITES ซึ่งมีข้อกำหนดแนวทางการแก้ไขปัญหาเหล่านี้ไว้บ้างแล้ว
อีกทั้งโรคระบาดหลายโรคก็มีจุดกำเนิดจากสัตว์ป่า เช่น สถานการณ์การแพร่ระบาดของไวรัสโคโรน่าสายพันธุ์ใหม่ 2019 (novel coronavirus 2019 – COVID-19) ได้ทำให้โลกตระหนักถึงภัยคุกคามรุนแรงที่เกิดจากการลักลอบค้าสัตว์ป่า ผู้เชี่ยวชาญต่าง ๆ สันนิษฐานว่า จุดกำเนิดของการแพร่ระบาดของ COVID-19 คือตลาดสัตว์ป่า โดยเจ้าหน้าที่จีนพบผู้ติดเชื้อกลุ่มแรกเป็นคนงานและลูกค้าขายส่งอาหารที่มาจากสัตว์ป่าในเมืองอู่ฮั่น (Wuhan) มณฑลหูเป่ย (Hubei) และนักวิทยาศาสตร์คาดว่า การแพร่พันธ์ของเชื้อไวรัสดังกล่าวเกิดจากการค้าสัตว์หลายพันธ์ที่โดนกักขังในพื้นที่แออัดและขาดแคลนสุขลักษณะ ซึ่งเป็นสภาพแวดล้อมที่เอื้ออำนวยอย่างยิ่งต่อโรค Zoonotic หรือโรคติดต่อจากสัตว์สู่มนุษย์
รวมทั้ง โรค MERS ในปี พ.ศ. 2555 ก็มีต้นกำเนิดจากค้างคาวและแพร่ไปอูฐ ก่อนมายังมนุษย์ รวมถึงโรค SARS-COV ในประเทศจีนในปี พ.ศ. 2546 เกิดจากค้างคาวไปสู่ชะมดก่อนมาสู่คน นอกจากนี้ มีความเป็นไปได้สูงว่า ในอนาคตการแพร่ระบาดครั้งใหญ่ครั้งต่อไปของโรคอุบัติใหม่ก็จะเกิดจากการปฏิสัมพันธ์ที่เป็นอันตรายระหว่างมนุษย์และสัตว์ป่า โดยมีการคาดการณ์ว่า ยังมีเชื้อไวรัสที่ยังไม่สามารถระบุชนิดหรือสายพันธุ์ได้ อีกกว่า 500,000 ชนิด ซึ่งอาจพัฒนาเป็นเชื้อก่อโรคจากสัตว์สู่คน ประชาคมโลกได้ตระหนักถึงภัยคุกคามรูปแบบใหม่ดังกล่าว โดยรัฐบาลจีนแสดงความจริงจังในการขจัดปัญหานี้และออกคำสั่งห้ามการค้าสัตว์ป่าเพื่อบริโภคทั่วประเทศอย่างสมบูรณ์ในเดือนกุมภาพันธ์ 2563
ดังนั้นจากสถานการณ์ ปัญหาการลักลอบค้าสัตว์ป่าของประเทศไทย และปัญหาการทารุณกรรมและการจัดสวัสดิภาพสัตว์ที่ไม่เหมาะสมในสถานที่จำหน่ายสัตว์เหล่านั้น จนอาจนำมาสู่การแพร่กระจายของโรคจากสัตว์สู่คนได้ ซึ่งย่อมมีผลกระทบต่อความหลากหลายทางชีวภาพ ระบบนิเวศวิทยาและสิ่งแวดล้อม ถึงเวลาหรือยังที่ทุกภาคส่วนของไทย จะร่วมมือร่วมใจกันแก้ไขปัญหาสถานการณ์อย่างรอบด้าน พร้อมทั้งจะได้แสวงหามาตรการและบูรณาการการแก้ไขปัญหาอย่างจริงใจ เพื่อยุติการลักลอบค้าสัตว์ป่าที่ผิดกฎหมาย และการป้องกันการทารุณกรรมสัตว์โดยไม่มีเหตุอันสมควร รวมถึงการคุ้มครองรักษาความหลากหลายทางชีวภาพ ระบบนิเวศวิทยา และสิ่งแวดล้อมของประเทศไทย
สมาคมป้องกันการทารุณสัตว์แห่งประเทศไทย และองค์กรเครือข่าย จึงพยายามเสนอและผลักดันให้สัตว์ป่าและสัตว์ที่นำเข้าจากต่างประเทศให้ได้รับการคุ้มครอง โดยการเสนอเพิ่มเติม ให้สัตว์ป่า ได้รับการบรรจุรับรองเข้าสู่นิยามสัตว์ที่อาศัยอยู่ในธรรมชาติ ตามนิยาม มาตรา 3 แห่ง พ.ร.บ.ป้องกันการทารุณกรรมและการจัดสวัสดิภาพสัตว์ พ.ศ. 2557 มากยิ่งขึ้น และกำหนดนิยาม ตาม พ.ร.บ.โรคระบาดสัตว์ พ.ศ. 2558 ให้ครอบคลุมสัตว์ป่าและสัตว์ที่นำเข้าจากต่างประเทศ รวมถึงควรมีมาตรการ แนวทางการควบคุมตรวจสอบเพื่อการยุติการลักลอบค้าสัตว์ป่าที่ผิดกฎหมาย ต่อไป
#ข่าวเป็นข่าวออนไลน์//เอกชัย//รายงาน
ไม่มีความคิดเห็น:
แสดงความคิดเห็น