นายอลงกรณ์ พลบุตร ที่ปรึกษารัฐมนตรีว่าการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ เปิดเผยกับสื่อมวลชนวันนี้ ( 31 ธันวาคม 2563 )ถึงผลงานของกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ปี 2563 ว่า ปี2563 เป็นปีที่ประเทศไทยต้องเผชิญกับความยากลำบากทางเศรษฐกิจและสังคมอย่างรุนแรงจากผลกระทบของโควิด19 ทำให้การเติบโตขยายตัวของจีดีพี.และการส่งออกติดลบ คนว่างงานสถานประกอบการหยุดกิจการจำนวนมาก เป็นความยากลำบากที่รุนแรงมากที่สุดครั้งหนึ่ง
อย่างไรก็ตามกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ได้ทุ่มเททำงานหนักเพื่อรับมือกับวิกฤติการณ์ครั้งนี้และภายใต้วิสัยทัศน์และนโยบายของ ดร.เฉลิมชัย ศรีอ่อน รัฐมนตรีว่าการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ รวมทั้งรัฐมนตรีช่วยว่าการอีก 3 ท่าน คือ รมช.ประภัตร โพธสุธน, รมช.ร้อยเอก ธรรมนัส พรหมเผ่า และ รมช.มนัญญา ไทยเศรษฐ์ สามารถขับเคลื่อนภารกิจตามนโยบายของรัฐบาล และนโยบายของรัฐมนตรีว่าการกระทรวงเกษตรฯ.ได้ผลเป็นที่น่าพอใจทั้งการแก้ไขปัญหาและการเดินหน้าด้วยนโยบายใหม่ๆ โดยเฉพาะ15โครงการเรือธง(flagship projects)ซึ่งจัดเป็นโครงการที่มีความสำคัญอย่างยิ่งในเชิงนโยบายและการวางรากฐานใหม่ให้ภาคเกษตรของไทยในยุคโควิด19 ได้แก่
1. โครงการประกันรายได้เกษตรกรผู้ปลูกพืชเศรษฐกิจหลักได้แก่ ข้าว มันสำปะหลัง ยางพารา ข้าวโพดเลี้ยงสัตว์และปาล์มน้ำมันกว่า7ล้านรายเสริมสร้างเศรษฐกิจเกษตรเป็นฐานหลักของอนาคตประเทศ
2. การป้องกันโรคอหิวาต์แอฟริกาสุกร (ASF)สำเร็จเป็นที่ยกย่องไปทั่วโลกสร้างรายได้และโอกาสภาคปศุสัตว์และอุตสาหกรรมแปรรูปอาหาร
3. การปฏิรูปที่ดินเพื่อเกษตรกรรม
เพื่อกระจายปัจจัยการผลิตคือที่ดินให้กับเกษตรกรลดความเหลื่อมล้ำ
4. โครงการสหกรณ์ซูเปอร์มาร์เก็ต170แห่งสร้างช่องทางใหม่ของสินค้าสหกรณ์เป็นทางเลือกใหม่ให้กับผู้บริโภค
5. การจัดตั้งศูนย์เทคโนโลยีเกษตรและนวัตกรรม (Agritech and Innovation Center : AIC) 77 จังหวัด เพื่อลดต้นทุนเพิ่มผลผลิตเพิ่มมูลค่าสินค้าเกษตรโดยใช้เทคโนโลยีและนวัตกรรมใหม่ๆของไทย
6. การจัดตั้งศูนย์ข้อมูลเกษตรแห่งชาติ (National Agriculture Big Data Center : NABC)เป็นฐานข้อมูลสำหรับเกษตรกรผู้ประกอบการและภาครัฐในการผลิตจนถึงการกำหนดนโยบาย
7. การเปิดด่านตงชิง และด่านผิงเสียง เพิ่มโอกาสการส่งออกไปจีนเพิ่มจากในอดีตที่มีเพียง2ด่าน
8. การพัฒนาข้าวไทยกลับมาครองแชมป์โลก
9. การบริหารจัดการน้ำรับมือภัยแล้ง และแก้ปัญหาน้ำท่วมด้วยเทคโนโลยีชลประทานอัจฉริยะ
10. โครงการ 1 ตำบล 1 กลุ่มเกษตรทฤษฎีใหม่ตามนโยบายเกษตรกรรมยั่งยืน (Sustainable agriculture)เป็นการวางรากฐานใหม่ให้กับเกษตรกรรายย่อยที่ประสบปัญหาหนี้สินและความยากจนครอบคลุมทุกจังหวัด
11. โครงการตลาดออนไลน์เพื่อเกษตรกร สร้างช่องทางตลาดอีคอมเมิร์ซกับแพลตฟอร์มออนไลน์ทั้งภายในและต่างประเทศภายใต้โมเดล”เกษตร-พาณิชย์ทันสมัย”ครั้งใหญ่ที่สุด
12. การบริหารจัดการผลไม้เชิงกลยุทธ์โดยฟรุ้ทบอร์ด (Fruit Board)สามารถเพิ่มขีดความสามารถในการส่งออกไปต่างประเทศแม้ประสบปัญหาผลกระทบจากมาตรการป้องกันการแพร่ระบาดของโควิด19
13. การบริหารจัดการประมงทั้งระบบตั้งแต่ประมงเพาะเลี้ยง ประมงพื้นบ้าน ประมงพาณิชย์ ประมงนอกน่านน้ำ และการรักษามาตรฐานIUU
14. การเยียวยาเกษตรกรที่ได้รับ
ผลกระทบจากโควิด-19เกือบ10ล้านราย
15. โครงการสินเชื่อดอกเบี้ยต่ำเพื่อเกษตรกร สถาบันเกษตรกรและผู้ประกอบการเพื่อสนับสนุนส่งเสริมการเพิ่มประสิทธิภาพการผลิตและการแปรรูปสร้างมูลค่า
โครงการเรือธงเหล่านี้ส่งผลประโยชน์โดยตรงถึงเกษตรกรและประเทศชาติ เป็นโครงการคานงัดที่จะนำไปสู่การปฏิรูปภาคเกษตรทั้งระบบและส่งผลให้ประชาชนพึงพอใจต่อผลงานของกระทรวงเกษตรและสหกรณ์เป็นอันดับหนึ่งในปี2563ซึ่งผู้บริหารและข้าราชการพนักงานลูกจ้างของทุกหน่วยงานในสังกัดกระทรวงเกษตรและสหกรณ์คือผู้ที่มีส่วนสำคัญอย่างยิ่งต่อความผลงานดังกล่าวรวมทั้งทุกภาคีภาคส่วนที่ได้ร่วมทำงานเพื่อประชาชนตชอด365วันที่ผ่านมา
# สมาคมหนังสือพิมพ์ส่วนภูมิภาคแห่งประเทศไทย
#ข่าวเป็นข่าวออนไลน์//เอกขัย//รายงาน