วันจันทร์ที่ 23 พฤศจิกายน พ.ศ. 2563

TSPCA ผลักดันสัตว์ป่าและสัตว์ที่นำเข้าจากต่างประเทศให้ได้รับการคุ้มครองป้องกันการทารุณกรรม



วันที่ 23 พฤศจิกายน 2563 ณ กรมอุทยานแห่งชาติ สัตว์ป่า และพันธุ์พืช และกรมปศุสัตว์ ดร.สาธิต ปรัชญาอริยะกุล เลขาธิการและผู้อำนวยการ สมาคมป้องกันการทารุณสัตว์แห่งประเทศไทย (TSPCA) ได้ยื่นจดหมายแด่อธิบดีกรมอุทยานแห่งชาติ สัตว์ป่า และพันธุ์พืช โดยมี นายประกิต วงศ์ศรีวัฒนกุล รองอธิบดี เป็นผู้รับมอบ

สืบเนื่องตามมติที่ประชุมคณะกรรมการบริหารสมาคมป้องกันการทารุณสัตว์แห่งประเทศไทย (TSPCA) เกี่ยวกับการเพิ่มเติมสัตว์ป่า ให้เข้าสู่นิยามสัตว์ที่อาศัยอยู่ในธรรมชาติ ตามนิยาม มาตรา 3 แห่งพ.ร.บ.ป้องกันการทารุณกรรมและการจัดสวัสดิภาพสัตว์ พ.ศ. 2557 และนิยาม ตาม พ.ร.บ.โรคระบาดสัตว์  พ.ศ. 2558 ให้ครอบคลุมสัตว์ป่าและสัตว์ที่นำเข้าจากต่างประเทศนั้น 

เนื่องจากปัจจุบันหลายกรณีที่เกิดขึ้นจริง เกี่ยวกับการทารุณกรรมสัตว์ป่านั้น ไม่สามารถดำเนินการเอาผิดกับผู้กระทำความผิดเกี่ยวกับการทารุณกรรมสัตว์โดยไม่มีเหตุอันสมควรได้ แม้ปัจจุบันจะมีกฎหมายพ.ร.บ. สงวนและคุ้มครองสัตว์ป่า พ.ศ.2562 ซึ่งโทษของการล่าสัตว์ป่า ค่อนข้างสูงซึ่งหลักทั่วไปของกฎหมายอาญา ที่กำหนดถึงการกระทำกรรมเดียวแต่ผิดกฎหมายหลายบท ให้ใช้กฎหมายบทที่มีโทษหนักที่สุด ลงโทษแก่ผู้กระทำความผิดก็ตาม แต่ พ.ร.บ.สงวนและคุ้มครองสัตว์ป่า ฯ และ พ.ร.บ.ป้องกันการทารุณกรรมฯ นั้น มีความหมายและเจตนารมณ์ที่ต่างกัน การบัญญัติกฎหมายจึงต้องมีความแน่นอนชัดเจนในถ้อยคำ หลีกเลี่ยงถ้อยคำที่จะทำให้การตัดสินคดี เป็นอัตวิสัยและการตีความเพราะกฎหมายทั้ง 2 ฉบับมีโทษทางอาญา จึงต้องมีการตีความอย่างเคร่งครัด ไม่ควรเกิดการตีความเกินตัวบท  เช่น นิยาม สภาพ พฤติการณ์ ถ้อยคำ สำนวน ความหมาย และเจตนารมณ์ ซึ่งก็อาจจะมีบางส่วนคาบเกี่ยวสัมพันธ์กันบ้าง แต่เจตนารมณ์ของกฎหมายทั้ง 2 ฉบับต่างกัน จึงควรแยกพิจารณา เช่น บางกรณีเป็นลักษณะการทารุณกรรมสัตว์ป่า แต่อาจจะไม่ได้เป็นการล่าตามนิยาม ได้ เช่น กรณียิงสัตว์ป่าหรือสัตว์ที่อาศัยตามธรรมชาติบางชนิดโดยไม่มีเหตุอันสมควร  เป็นต้น

อีกทั้งโรคในปัจจุบันหลายชนิดที่เกิดขึ้นกับมนุษย์นั้น อาจจะเกิดจากสัตว์เป็นพาหะนำโรค เช่น สัตว์ป่าหรือสัตว์ที่นำเข้าจากต่างประเทศ ดังนั้นควรมีมาตรการในการควบคุมป้องกันที่เข้มงวดรัดกุมมากยิ่งขึ้น

ทั้งนี้การพิจารณาบัญญัติกำหนด โดยการประกาศ เป็นสัตว์ป่า สัตว์ที่อาศัยอยู่ตามธรรมชาติ และสัตว์ที่นำเข้าจากต่างประเทศ เป็นรายชนิด ประเภท รายตัวของสัตว์นั้น ๆ ให้เกิดความชัดเจนและกระทบสิทธิของประชาชนน้อยที่สุด  เช่น การคัดเลือกตามบัญชีรายชื่อแนบท้าย พ.ร.บ.สงวนและคุ้มครองสัตว์ป่า พ.ศ. 2562  และเพิ่มเติมพิจารณานำรายชื่อสัตว์ที่อาศัยอยู่ตามธรรมชาติบางชนิด เช่น นก เต่า กระรอก บางชนิด ที่ไม่ได้เป็นสัตว์ป่าสงวนและคุ้มครองตามบัญชีรายชื่อ แต่มีความใกล้ชิดกับมนุษย์และอาจเคยมีการกระทำทารุณกรรมและการจัดสวัสดิภาพไม่เหมาะสม กำหนดให้ได้รับรองคุ้มครองตามกฎหมาย 

ทั้งนี้สมาคมฯ จึงเห็นควรให้มีการกำหนดและบัญญัติเพิ่มเติมหลักทั่วไป ให้ครอบคลุมคุ้มครองสัตว์ที่อาศัยในธรรมชาติ รวมถึงสัตว์ป่าและสัตว์ที่นำเข้าจากต่างประเทศ ด้วยความคาดหวังว่าจักเป็นประโยชน์ ต่อสรรพสัตว์น้อยใหญ่ ในการป้องกันการทารุณกรรมและการจัดสวัสดิภาพที่ดีต่อไป

เอกชัย//ข่าวเป็นข่าว//รายงาน. 

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น

บุรีรัมย์ – กกล.สุรนารี โดย ผบ.ฉก.ทพ.26 เดินเท้าลงพื้นที่มอบแสงสว่างแห่งความหวังให้ผู้ยากไร้ ตาม “โครงการสานสายใยรักพราน 26” ในพื้นที่ อำเภอละหานทราย จังหวัดบุรีรัมย์

เมื่อวันที่ 27 มกราคม 2564 ที่อำเภอละหานทราย จังหวัดบุรีรัมย์ ผู้สื่อลงพื้นที่ข่าวรายงานว่า                                พันเอก เกียรติศัก...